วัสดุ-อุปกรณ์ที่ใช้เลี้ยงปลาสวยงาม

1 ภาชนะสำหรับเลี้ยงปลา
ปลาสวยงามแต่ละชนิดจะมีความสวยงามมากขึ้น หากเลือกภาชนะในการเลี้ยงได้ถูกต้องเหมาะสม เช่น ปลาคาร์พ และปลาอะราไพม่า เหมาะที่จะเลี้ยงในบ่อซีเมนต์ภายนอกอาคาร ปลาแรด และปลามังกร เหมาะที่จะเลี้ยงในตู้กระจกขนาดใหญ่และเลี้ยงเพียงตัวเดียวโดดๆ ปลานีออน ปลาก้างพระร่วง ปลาตะเพียนทอง ปลาเสือสุมาตรา ปลาม้าลาย ปลาซิวข้างขวาน ปลาหางนกยูง และปลาสอด เหมาะที่จะเลี้ยงในตู้กระจกขนาดเล็กถึงขนาดกลาง โดยเลี้ยงเป็นฝูงจะยิ่งทำให้ดูสวยงามยิ่งขึ้น ส่วนปลากัด เหมาะสำหรับเลี้ยงในภาชนะขนาดเล็กเช่นขวดเหลี่ยม หรือขวดโหลรูปทรงต่างๆ

2 สถานที่
คือการเลือกที่สร้างบ่อหรือที่จัดวางตู้ปลา พร้อมอุปกรณ์ประกอบอื่นๆให้เหมาะสมสอดคล้องกับอาคาร หรือลักษณะของห้อง ไม่ว่าจะเป็นบริเวณใด มุมใด หรือห้องใด เพราะเมื่อสร้างบ่อหรือจัดวางตู้เรียบร้อยแล้ว หากเกิดเปลี่ยนใจอยากเปลี่ยนสถานที่ใหม่ จะมีความยุ่งยากในการเคลื่อนย้าย เพราะต้องมีการถ่ายน้ำออกและเคลื่อนย้ายปลา มักมีผลทำให้ปลาบอบช้ำหรือตู้เลี้ยงปลาชำรุดแตกร้าวได้ง่าย โดยเฉพาะหากทำให้ตู้ปลาเกิดการรั่วซึม ก็จะทำให้เกิดปัญหากับบริเวณข้างเคียง หรือการซ่อมแซมตู้อาจทำให้ความสวยงามลดลงได้

3 ความหนาแน่นของปลา
คือจำนวนปลาที่จะเลี้ยงในแต่ละตู้ไม่ควรให้มีจำนวนมากเกินไป สำหรับปลาบางชนิดอาจต้องเลี้ยงเพียงตัวเดียว เช่นปลามังกร ปลาแรด ปลาเค้า ปลากราย ปลาตองลาย ปลาบู่ ปลาชะโด และปลากัด ไม่เช่นนั้นปลาจะไล่กัดทำอันตรายกันเอง ปลาบางชนิดอาจเลี้ยงเป็นคู่หรือจำนวนไม่มากมายนัก เช่น ปลาออสการ์ ปลาปอมปาดัวร์ ปลาเทวดา และปลาหมอชนิดต่างๆ หรือปลาบางชนิดควรเลี้ยงหลายตัวให้เป็นฝูงหรือเลี้ยงร่วมกับปลาชนิดอื่นๆ แต่ก็ไม่ควรให้มีจำนวนมากมายจนเกินไป เพราะหากมีจำนวนมากเกินไป ปลาจะไม่ค่อยเจริญเติบโต แต่กลับอ่อนแอป่วยเป็นโรคได้ง่าย สำหรับจำนวนปลาที่เหมาะสมนั้นจะขึ้นกับชนิดและขนาดของปลาด้วย ซึ่งผู้เลี้ยงควรจะได้ศึกษาให้ละเอียดรอบคอบ

4 การรักษาความสะอาดในภาชนะเลี้ยงปลาหรือตู้ปลา
ผู้เลี้ยงควรจะทำความเข้าใจวิธีการทำความสะอาดเพื่อกำจัดสิ่งหมักหมม และตะกอนที่ตกค้างอยู่ในระบบกรองน้ำอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งเท่ากับเป็นการกำจัดเศษอาหารและมูลที่ปลาขับถ่ายออกมาออกจากตู้ปลา โดยทำความสะอาดอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง จะทำให้ปลาที่เลี้ยงมีการเจริญเติบโตรวดเร็ว และยังเป็นการช่วยป้องกันการเกิดโรคระบาดปลา ที่อาจเกิดจากเศษอาหารที่บูดเน่าได้

5 การถ่ายน้ำในภาชนะเลี้ยงปลาหรือตู้ปลา
ถึงแม้ผู้เลี้ยงจะได้หมั่นทำความสะอาดล้างสิ่งหมักหมมในระบบกรองน้ำ โดยเฉพาะระบบกรองน้ำนอกตู้ปลาจะไม่มีการเปลี่ยนถ่ายน้ำในตู้ปลาเลย หรือถึงแม้จะเป็นระบบกรองน้ำในตู้ปลา ก็อาจจะไม่มีการเปลี่ยนถ่ายน้ำหรือมีบ้างเพียงเล็กน้อย หรือนานๆจะกระทำครั้งหนึ่ง ปลาอาจเติบโตได้ดีในระยะแรกๆ แต่เมื่อเลี้ยงไปนานๆปลาจะหยุดการเจริญเติบโต สาเหตุเพราะมีสิ่งหมักหมมที่ละลายอยู่ในน้ำซึ่งไม่ได้ถูกกำจัดออกไปพร้อมกับการทำความสะอาด สิ่งหมักหมมดังกล่าวเกิดจากการขับถ่ายของปลาในรูปของสารละลายหรือก๊าซต่างๆ รวมทั้งสารอาหารบางประเภทที่ละลายจากอาหารที่ใช้เลี้ยงปลา สารละลายทั้งหลายนับวันจะมีความเข้มข้นมากขึ้นเรื่อยๆ และค่อนข้างรวดเร็วกว่าการเลี้ยงปลาในบ่อดิน เพราะในบ่อดินจะมีขบวนการต่างๆที่ช่วยลดสารอาหารที่ละลายอยู่ในน้ำ โดยเฉพาะขบวนการสังเคราะห์แสงของพรรณไม้น้ำและแพลงตอนพืชทั้งหลาย แต่ในระบบการเลี้ยงปลาสวยงามเป็นการเลี้ยงปลาในสภาพพื้นที่
แคบๆและน้ำใส ปราศจากแพลงตอนพืชและมักไม่ค่อยมีพรรณไม้น้ำ จึงทำให้ไม่มีตัวช่วยลดสิ่งหมักหมมที่ละลายอยู่ในน้ำ
6 การให้อาหารปลาสวยงาม
การเลี้ยงปลาสวยงามก็เหมือนกับการเลี้ยงสัตว์บกโดยทั่วไป คือต้องให้อาหารทุกวัน เพราะปลาสวยงามที่เลี้ยงในตู้ไม่สามารถหาอาหารธรรมชาติกินได้ และยังมีความเคยชินกับการได้รับอาหารทุกวัน ดังนั้นหากปลาถูกปล่อยให้อดอาหารเป็นเวลา 2 - 3 วัน ก็จะทำให้ปลามีสุขภาพเสื่อมโทรมและมักทำอันตรายกันเอง นอกจากนั้นการให้อาหารปลาสวยงามยังมีข้อปลีกย่อยที่ควรพิจารณาดังนี้

      6.1 การให้อาหารเป็นเวลา
เพื่อให้ปลาเกิดความเคยชิน อย่าให้แบบพร่ำเพรื่อ คือ อยากให้เมื่อไหร่ก็ให้ หรือเข้าไปดูปลาครั้งใดเห็นปลาว่ายเข้ามาเหมือนต้องการอาหาร ก็ให้อาหารปลาทุกครั้ง การให้อาหารปลาแบบพร่ำเพรื่อจะทำให้มีเศษอาหารเหลือตกค้างในระบบกรองน้ำค่อนข้างมาก แล้วเกิดการบูดเน่าเป็นตัวการทำให้ปลาเกิดโรคระบาดได้ง่าย การให้อาหารปลาสวยงามในแต่ละวันควรให้เพียง 2 ครั้ง ในตอนเช้าและเย็นก็เป็นการเพียงพอสำหรับปลา

      6.2 พิจารณาถึงชนิดของปลา
แล้วเลือกชนิดของอาหารให้เหมาะสม โดยเฉพาะขนาดของเม็ดอาหารควรให้เหมาะสมที่ปลาจะฮุบกินได้ง่าย

      6.3 พิจารณาถึงวัยของปลา
ถ้าเป็นปลาวัยอ่อนก็จะต้องให้บ่อยครั้งมากขึ้น อาจเป็นวันละ 3 - 4 ครั้ง

7 อุณหภูมิของน้ำในตู้ปลา
ผู้เลี้ยงปลาสวยงามจะต้องรำลึกอยู่เสมอว่าปลาเป็นสัตว์เลือดเย็น กิจกรรมต่างๆของร่างกายจะปรับไปตามอุณหภูมิน้ำ ดังนั้นในฤดูหนาวการเผาผลาญอาหารภายในร่างกายก็จะลดลงตามอุณหภูมิน้ำ นั่นหมายถึงปลามีความต้องการอาหารลดลง ดังนั้นผู้เลี้ยงจะต้องลดปริมาณอาหารที่ให้ลง และควรให้อาหารเพียงวันละครั้งในตอนบ่ายหรือเย็น แต่ถ้าหากต้องการให้ปลากินอาหารตามปกติ ก็อาจกระทำโดยใช้เครื่องให้ความร้อนที่ควบคุมอุณหภูมิได้ ก็จะทำให้ปลาที่เลี้ยงมีความสดชื่น แข็งแรง และกินอาหารได้ตามปกติ

8 แสงสว่าง
การเลี้ยงปลาสวยงามในตู้กระจกมักตั้งตู้ปลาอยู่ภายในห้องหรือในอาคาร และมักตั้งในบริเวณที่ไม่ได้รับแสงแดด เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดตะไคร่น้ำหรือเกิดน้ำเขียวในตู้เลี้ยงปลา ดังนั้นการเพิ่มแสงสว่างในตู้เลี้ยงปลาจึงมีความจำเป็น เพื่อเพิ่มความสวยงามและเป็นการช่วยให้ปลาแข็งแรง อีกทั้งยังช่วยให้พรรณไม้น้ำมีการสังเคราะห์แสงเจริญเติบโตได้ ซึ่งปัจจุบันมีการผลิตหลอดนีออนที่เป็นแสงแดดเทียม สำหรับใช้กับการเลี้ยงปลาสวยงามติดที่ฝาตู้ ผู้เลี้ยงควรเลือกใช้หลอดชนิดดังกล่าว โดยเปิดให้ปลาในเวลากลางวันและตอนหัวค่ำ เมื่อเลิกใช้ห้องหรือก่อนเข้านอนก็ควรจะปิดไฟ เพื่อให้ปลาได้มีการพักผ่อน เพราะเมื่อไม่มีแสงสว่างปลาส่วนใหญ่จะลดกิจกรรมลง เช่น ว่ายน้ำช้าลง

9 การจับปลาหรือการเคลื่อนย้ายปลา
หากไม่มีความจำเป็นไม่ควรมีการจับปลาหรือเคลื่อนย้ายปลาออกจากตู้ปลาอย่างเด็ดขาด เพราะการจับหรือการเคลื่อนย้ายปลาไม่ถูกวิธีหรือไม่ชำนาญ มักทำให้ปลาบอบช้ำ เกล็ดหลุด เกิดบาดแผล พิการ หรือตายได้ หากจำเป็นต้องจับปลาหรือเคลื่อนย้ายปลาเช่น ในกรณีล้างตู้ปลาหรือเปลี่ยนตู้ปลา ก็ต้องทำอย่างระมัดระวัง โดยไม่ควรช้อนปลาพ้นจากน้ำ โดยเฉพาะการใช้กระชอนช้อนปลาพ้นน้ำขึ้นมา เพราะเมื่อปลาพ้นน้ำขึ้นมาปลาจะกระโดดพลิกไปมาในกระชอน อาจเกิดการทับครีบของตัวปลาเอง หรือหากช้อนปลาหลายตัวพร้อมกัน ปลาจะกระโดดทับกระแทกกันไปมา ผลก็คือการจับปลามักทำให้ปลาเกล็ดหลุด เกิดบาดแผล หรือครีบหักพับกลายเป็นปลาพิการ

10 น้ำที่จะใช้เลี้ยงปลาสวยงาม
จะต้องเป็นน้ำที่มีคุณสมบัติเหมาะสมต่อการดำรงชีพของปลา และสิ่งที่สำคัญที่สุดคือจะต้องใส เพราะสิ่งสำคัญสำหรับการเลี้ยงปลาสวยงามคือต้องการมองเห็นปลาสวยงามอย่างชัดเจน มองดูน้ำใสสะอาด สำหรับประเภทของน้ำและคุณสมบัติที่เหมาะสมต่อการเลี้ยงปลาสวยงาม

11 โรคพยาธิและการป้องกันรักษา
การเลี้ยงปลาสวยงามเป็นการเลี้ยงในพื้นที่แคบๆ ที่ขาดความสมดุลย์ของระบบนิเวศน์ จึงมักทำให้ปลาเกิดอาการผิดปกติได้ง่าย โดยเฉพาะการเกิดโรคระบาดต่างๆ ผู้เลี้ยงจำเป็นจะต้องหมั่นสังเกตความเปลี่ยนแปลงของปลาที่เลี้ยงอยู่เสมอ เช่น ลักษณะอาการว่ายน้ำ การกินอาหารน้อยลง หรือการเกิดผิดปกติของร่างกาย ได้แก่ สีซีดลง เมือกมากขึ้น หรือตกเลือด จะต้องรีบดำเนินการแก้ไข



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น